ประวัติสมาคม

 (ปรับปรุงเนื้อหา จากต้นฉบับ โดยเปลี่ยนแปลง พ.ศ.ให้เป็นปัจจุบัน)

แพทยสมาคมฯ ได้มีกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2464 หรือย่าง 99 ปี ถ้านับถึงปีปัจจุบัน พ.ศ. 2563 
(ต้นฉบับ คือ "หรือ 60 ปี ถ้านับถึงปีที่บันทึกประวัติ พ.ศ.2524)
โดยครั้งแรกได้จดทะเบียนเป็น “สมาคม” มีสำนักงานชั่วคราวอยู่ที่ตึกอำนวยการของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งแต่ก่อนที่จะมีสมาคมนี้ขึ้น ได้มีการประชุมของแพทย์ชั้นผู้ใหญ่ เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2464 เป็นครั้งแรก ผู้ที่เข้าประชุมประกอบด้วย


                                        •นาวาเอก หม่อมเจ้า ถาวรมงคลวงษ์ ไชยันต์ 
                                        •พันเอก พระยาวิบุลอายุรเวท นายแพทย์ใหญ่ทหารบก 
                                        •พันเอก พระศักดาพลรักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 
                                        •อำมาตย์โท หลวงอายุรแพทย์พิเศษ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช 
                                        •อำมาตย์ตรี หลวงอัพภันตราพาธพิศาล แพทย์โรงพยาบาลศิริราช 
                                        •อำมาตย์ตรี หลวงไวทเยศรางกูร แพทย์โรงพยาบาลศิริราช 
                                        •นายแพทย์ เอ็ม. อี บาร์นส์ ผู้อำนวยการกองสุขาภิบาลสภากาชาด 
                                        •อำมาตย์เอก พระยาเวชสิทธิ์พิลาศ (จรัส วิภาตะแพทย์)
                                         คณบดีคณะแพทยศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

                                        •พันตรี หม่อมเจ้า วัลลภากร วรวรรณ ผู้อำนวยการกองอนามัยสภากาชาด 
                                        •นายแพทย์ เลโอโปลด์ โรแบร์ต ผู้อำนวยการกองวิทยาศาสตร์สภากาชาด


เมื่อประชุมกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงได้ไปจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติสมาคม เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2464 ทั้งนี้นับว่าทำกันได้รวดเร็วมาก กล่าวคือ เริ่มประชุมเมื่อวันที่ 13 กันยายน ไปจนถึงจดทะเบียนเสร็จเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม รวมเวลาเพียง 42 วันเท่านั้น

ชื่อของแพทยสมาคมนั้น คณะผู้ดำเนินการได้กราบทูลขอจาก สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต องค์อุปนายก ผู้อำนวยการสภากาชาดสยามในครั้งนั้น และได้ประทานมาว่า “แพทยะสมาคมแห่งกรุงสยาม” ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น “แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย” ตามการเปลี่ยนแปลงทางอักขรวิธี และการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ต่อมาใน พ.ศ. 2473 พระอัพภันตราพาธพิศาล ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งสภานายก ได้ทำหนังสือกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ขอให้ทรงรับแพทยสมาคมไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ พระองค์ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯรับไว้ แพทยสมาคมฯจึงได้ใช้ “ในพระบรมราชูปถัมภ์” ต่อท้ายตั้งแต่รัชสมัยของรัชกาลที่ 7 เป็นต้นมา


ในระยะแรก แพทยสมาคมฯ ได้รับอนุญาตให้ใช้สถานที่ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นสำนักงานชั่วคราวและได้เปิดประชุมประจำปีครั้งแรกขึ้น ณ ที่โรงพยาบาลแห่งนี้ เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2464 มีสมาชิกมาร่วมประชุม 64 ท่าน จอมพลสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต อุปนายกผู้อำนวยการสภากาชาด กับมหาอำมาตย์โทพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นชัยนาทนเรนทร อธิบดีกรมสาธารณสุขได้เสด็จมาเป็นเกียรติ
เมื่อสิ้นปี พ.ศ. 2464 แพทยสมาคมมีสมาชิกรวม 186 คน ในสมัยนั้นปลายปีคือเดือนมีนาคม โดยยังไม่มีสมาชิกเป็นสตรี


พ.ศ. 2466 แพทยสมาคมได้เริ่มใช้ตราของสมาคม อันเป็นฝีพระหัตถ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้า กรมพระนริศรานุวัติวงศ์ ในตรานี้มีรูปนาคตรีศูลคืองูกับตรีศูล แบบนี้ทำเทียบกับของฝรั่งซึ่งนิยมใช้เครื่องหมายเป็นรูปงูพันไม้ นาคตรีศูล นี้อยู่ในวงกลม ภายในขอบของวงกลมมีอักษรว่า “แพทยะสมาคม” แห่งกรุงสยาม” ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น “แพทยสมาคม แห่งกรุงสยาม” และเปลี่ยนอีกครั้งหนึ่งเป็น “แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย” (ตรีศูล คือ หลาวสามง่าม เป็นศัสตราประจำหัตถ์พระอิศวร)


แพทยสมาคมฯ ได้ใช้สำนักงานชั่วคราวอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จนกระทั่ง พ.ศ.2475 สภากาชาดไทยได้ย้ายกองอนามัยของสภาฯ ที่ถนนบำรุงเมืองตอนใกล้สะพานกษัตริย์ศึก ไปยังโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และได้มอบสถานที่ให้แพทยสมาคมฯ ใช้เป็นสำนักงาน ทั้งนี้ด้วยการติดต่อของ ม.จ.วัลลภากร ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการของแพทยสมาคมฯ และผู้อำนวยการกองอนามัยด้วย การขนย้ายได้ทำเสร็จเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2475 จึงนับว่าการที่ หม่อนเจ้าวัลลภากรได้ทรงดำเนินการไปจนแพทยสมาคมฯ ได้มีหลักแหล่งเป็นของตนเองเช่นนี้ นับเป็นพระคุณอย่างสูงแก่สมาคม

สถานที่ใหม่นี้ถือได้ว่าเป็นย่านกลางของกรุงเทพฯ การไปมาสะดวก มีทั้งรถรางและรถเมล์ขาวของนายเลิศผ่าน ทำให้สมาชิกมาติดต่อกับสมาคมมากขึ้น แม้ว่าสถานที่ใหม่นี้มีตึกเล็ก ๆ อยู่หลังเดียว แต่ก็พออาศัยเป็นที่ทำงานและประชุมกรรมการได้ ตึกนี้สภากาชาดไม่ได้ยกให้เลย ให้สมาคมอาศัยอยู่และเก็บค่าเช่าในราคาที่ถูกมาก ในปัจจุบันนี้สถานที่นี้ได้ตกเป็นสมบัติของกรมอนามัย และตึกเก่าก็ได้ถูกดัดแปลงไปจนจำไม่ได้ กรมอนามัยได้ให้ กองวัณโรค ครอบครองอยู่


เรื่องที่สำคัญมากอีกอย่างหนึ่งของสมาคมต่าง ๆ ก็คือการออกวารสารเพื่อใช้เป็นสื่อกับสมาชิกและเป็นการเผยแพร่ความรู้ เมื่อตั้งแพทยสมาคมฯขึ้นในปี 2464 นั้น สมาคมยังไม่มีวารสารของตนเอง แต่ได้ซื้อหนังสือจดหมายเหตุทางแพทย์สภากาชาดมาแจกให้สมาชิก ต่อมาใน พ.ศ. 2468 แพทยสมาคมฯจึงได้รับโอนกรรมสิทธิ์จากสภากาชาดมาจัดทำเอง และตั้งชื่อเสียใหม่ว่า “จดหมายเหตุทางแพทย์ของแพทยะสมาคมแห่งกรุงสยาม”

เริ่มเดิมของจดหมายเหตุทางแพทย์มีอยู่ว่า นายแพทย์ เลโอโปลด์ โรแบร์ต ผู้อำนวยการกองวิทยาศาสตร์สภากาชาดได้หารือกับหลวงศักดาพลรักษ์ (พระยาดำรงแพทยาคุณ) ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ถึงเรื่องที่ควรจะจัดให้มีการออกวารสารการแพทย์ขึ้นในกรุงสยาม หลวงศักดาพลรักษ์เห็นดีด้วย จึงได้นำความขึ้นกราบทูลสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ อุปนายก ผู้อำนวยการสภากาชาดในขณะนั้น พระองค์ทรงเห็นชอบและทราบรับพระธุระให้สภากาชาดจัดการออกหนังสือนี้ เพื่อส่งเสริมความรู้ในวิชาแพทย์ และเพื่อแจ้งข่าวคราวอันเกี่ยวกับกิจการของสภากาชาดให้แพร่หลาย จดหมายเหตุทางแพทย์ของสภากาชาดสยามจึงเป็นวารสารการแพทย์ของไทยเล่มแรก ที่ได้จัดออกใน พ.ศ. 2461 เป็นรายไตรมาศ ค่าบำรุงปีละ 5 บาท ขายปลีกเล่มละ 2 บาท หนังสือเล่มแรกเป็นฉบับประจำวันที่ 1 เมษายน 2461 (ต้นปี)


ต่อมาสภากาชาดได้ออกหนังสือรายเดือนอีกฉบับหนึ่งเรียกว่า “หนังสือพิมพ์สนองโอฐสภากาชาด” สำหรับลงข่าวที่เกี่ยวข้องแก่กิจการของสภากาชาดโดยเฉพาะ สภากาชาดจึงได้โอนจดหมายเหตุทางการแพทย์มาให้แพทยสมาคมฯ ความตอนหนึ่งใน “แจ้งความกระทรวงมุรธาธร เรื่องโอนกรรมสิทธิ์หนังสือ” มีว่าบัดนี้สภากาชาดสยาม ผู้ถือกรรมสิทธิ์ในหนังสือเรื่องที่กล่าวมา ได้โอนกรรมสิทธิ์ในวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2468 ให้แก่แพทยสมาคมแห่งกรุงสยามเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ต่อไป

แจ้งความมา ณ วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2468


ในระหว่างปี 2469-2470 ได้มีเสียงเล่าลือกันว่า แพทยะสมาคมแห่งกรุงสยามไม่ค่อยจะมีกิจกรรมอะไรที่เป็นประโยชน์นัก สมาชิกไม่ค่อยได้รับประโยชน์สมความคาดหมาย หนังสือจดหมายเหตุทางแพทย์ที่ส่งไปให้สมาชิกก็มีน้อย นาน ๆ จนได้รับสักเล่ม (ปีละ 3 เล่ม) การประชุมทางวิชาการนาน ๆ จึงจะมีสักครั้ง สมาชิกที่แยกย้ายกันอยู่มีโอกาสที่จะได้พบปะสนทนากันน้อย คณะกรรมการผู้ดำเนินการของสมาคมส่วนมากเป็นผู้ที่จบแพทย์มาจากอังกฤษและผู้ที่มีตำแหน่งสูงในราชการ ซึ่งแต่ละท่านก็อ้างว่าไม่ค่อยมีเวลา จึงไม่ได้เอาใจใส่ในกิจกรรมของสมาคมให้มากเท่าที่ควร การแสดงความไม่พอใจอย่างนี้ไม่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษร คงคุกกรุ่นอยู่ในระหว่างสมาชิกในกลุ่มที่แสดงความไม่พอใจนี้ มีบุคคลที่สำคัญอยู่สองท่าน คือทางฝ่ายศิริราชได้แก่หลวงเฉลิมคัมภีรเวชช์และทางฝ่ายกรมสาธารณสุขได้แก่ หลวงเชฏฐไวทยาการ ทั้งสองท่านนี้สำเร็จการศึกษาแพทย์จากศิริราช ท่านแรกสำเร็จการศึกษา พ.ศ.2460 และท่านหลังจบ พ.ศ.2458 ทั้งสองท่านได้รับปริญญาเอกทางสาธารณสุขศาสตร์จากมหาวิทยาลัยจอฮ์นส์ ฮอพกินส์ ด้วยแรงผลักดันของท่านทั้งสองนี้ได้ทำให้เกิดสโมสรแพทย์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้น สโมสรนี้ได้จดทะเบียนตามกฎหมายเมื่อ วันที่ 15 มีนาคม 2470 มีสำนักงานครั้งแรกตั้งอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช กรรมการชุดแรกประกอบด้วย

                                  •หลวงเฉลิมคัมภีรเวชช์ (นายแพทย์เฉลิม พรมมาส) เป็นนายก
                                  •พระบริรักษ์เวชชการ (พระยาบริรักษ์เวชชการ) เป็นอุปนายก
                                  •หลวงเชฏฐ์ไวทยาการ (พระเชฏฐ์ไวทยาการ) เป็นเหรัญญิก
                                  •ขุนไตรกิศยานุการ (หลวงไตรกิศยานุการ) เป็นเลขานุการ
คุณหลวงเฉลิมคัมภีรเวชช์ และท่านขุนไตรกิสยานุการ (ต่อมาได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นหลวงในนามเดิม) ทำงานอยู่ด้วยกันที่ตึกพยาธิวิทยา ซึ่งในสมัยนั้นถือว่าเป็นตึกที่ทันสมัยที่สุดของโรงเรียนแพทย์ ตึกนี้ได้ถูกลูกระเบิดทำลายในระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา ตึกที่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้เป็นตึกซึ่งสร้างขึ้นภายหลัง คุณพระบริรักษ์เวชชการ และคุณหลวงเชฏฐ์ไวทยาการ ทำงานอยู่ที่กรมสาธารณสุขกระทรวงมหาดไทย ท่านแรกเป็นผู้ช่วยอธิบดี ท่านหลังเป็นหัวหน้ากองโรคระบาด ในเวลาต่อมาทั้งสองท่านได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยาและพระตามลำดับในนามเดิม


วัตถุประสงค์ของสโมสรแพทย์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีอยู่ 3 ประการ คือ


                                  •เพื่อบำรุงการกีฬา
                                  •เพื่อให้นักเรียนเก่าและใหม่รู้จักคุ้นเคยสนิทสนมกัน
                                  •เพื่ออบรมและบำรุงความรู้ และมีการสัมพันธ์กับโรงเรียน

สมาชิกของสโมสรแพทย์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีอยู่ 3 ประเภท คือ

                                  •นักเรียนเก่าของโรงเรียนแพทย์ซึ่งอยู่ในพระนคร
                                  •นักเรียนเก่าของโรงเรียนแพทย์ซึ่งอยู่หัวเมือง
                                  •ผู้ที่มิใช่แพทย์ แต่มีความยินดีเข้าร่วมเป็นสมาชิก โดยมีสมาชิกซึ่งเป็นนักเรียนเก่ารับรอง 1 คน

ได้มีการประชุมใหญ่เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2471 ที่ห้องประชุมของโรงพยาบาลศิริราชห้องประชุมนี้อยู่ที่ตึกบัญชาการ ซึ่งเป็นตึกที่ตั้งขวางทางเดินจากท่าโป๊ะเข้าโรงพยาบาล เดิมเป็นตึกสองชั้น สมเด็จพระพันวรรษาอัยยิกาเจ้าพระราชทานเงินสร้าง เมื่อสร้างเสร็จแล้วก็เสด็จไปทรงเปิด ในตอนนั้นผู้เขียนยังเป็นนักศึกษาอยู่ และเป็นหนึ่งในนักศึกษาที่ยืนเรียงรายรับเสด็จ ตึกบัญชาการนี้สร้างเป็นสองชั้นและมีใต้ถุนอีกชั้นหนึ่งด้วย ส่วนยาวของตึกขนานกับลำน้ำเจ้าพระยามีทางเดินผ่ากลาง ผู้ที่ข้ามฝากมาขึ้นที่ท่าโป๊ะจะเดินทางตรงไปที่ประตูตึกแล้วเดินทะลุเข้าภายในโรงพยาบาล ทางซ้ายมือของตึกเป็นแผนกเภสัชกรรมและที่ตรวจโรคทางอายุรกรรม ส่วนทางขวามือเป็นที่ตรวจโรคทางศัลยกรรมและห้องผ่าตัดเล็กน้อย แต่ก่อนที่จะถึงห้องตรวจโรคทางซ้ายและขวามีม้ายาวสำหรับผู้ที่จะมารับการ ตรวจนั่งพักในขณะที่ยืนเฝ้ารับเสด็จ พอสมเด็จฯ ท่านทรงผ่านไป ได้ยินเสียงรับสั่งว่าคับแคบเกินไป ความข้อนี้เป็นความจริงคือพอเปิดทำงานก็มีผู้มารอรับการรักษาแน่นไปหมด ภายในไม่กี่ปีทางการก็ต้องสร้างตึกสำหรับตรวจโรคขึ้นใหม่สมจริงดังที่สมเด็จท่านทรงทักไว้


ชั้นบนของตึกทางซ้ายมือ (หรือทางด้านใต้) เป็นที่ทำงานฝ่ายธุรการและห้องคณบดี ทางขวามือเป็นห้องสมุดและพัสดุ ตรงกลางเป็นห้องประชุม ที่ห้องประชุมนี้เองที่สโมสรแพทย์ฯยืมใช้เป็นที่ประชุมทางวิชาการ ตามปกติห้องประชุมนี้เป็นห้องบรรยายพิเศษของคณะ ซึ่งจะมีอาจารย์และนักศึกษาทุกชั้นมาร่วมฟังการบรรยาย

 

สโมสรแพทย์ฯได้มีการประชุมทางวิชาการกันบ่อย ๆ จะบ่อยเท่าไรผู้เขียนจำไม่ได้ และดูเหมือนจะใช้เวลาวันเสาร์ตอนบ่าย เพราะสมัยนั้นทางราชการยังทำงานวันเสาร์ครึ่งวัน อยากจะเดาว่าการประชุมทางวิชาการนี้มีทุกเดือน หรืออย่างน้อยก็สองเดือนต่อครั้ง ผู้เขียนจำได้ว่า ในขณะที่เป็นนักศึกษาอยู่นั้น ได้รับเชิญจากสโมสรฯให้ไปบรรยายเรื่อง ความดันเลือด ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้เขียนได้ทำการค้นคว้าในความควบคุมของศาสตราจารย์ แอร์เร็ตต์ ซี. ออลบริตตัน การบรรยายนี้ทำใน พ.ศ. 2472 ส่วนการค้นกว้าทำใน พ.ศ. 2471


เมื่อสโมสรแพทย์ได้จัดให้มีการประชุมทางวิชาการแล้ว ไม่ได้ปล่อยให้เรื่องเหล่านั้นหายไปเฉย ๆ ได้จัดพิมพ์เรื่องต่าง ๆ เหล่านั้นขึ้นแจกจ่ายแก่สมาชิก เป็นราย 2 เดือนต่อฉบับ เล่ม 1 ฉบับที่ 1 ออกเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2472 ฉบับที่มีเรื่องของผู้เขียนปรากฏอยู่ใน เล่ม 1 ฉบับที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2473 หนังสือที่กล่าวนี้เรียกว่า “รายงานการประชุมสโมสรแพทย์” พิมพ์ออกแจกจ่ายทุกสองเดือนแล้วไปสะดุดหยุดลงเมื่อใดผู้เขียนไม่ทราบ การประชุมทางวิชาการนี้ไปเลิกเสียเมื่อใดก็ไม่ทราบอีกเหมือนกัน

 

หนังสืออีกเล่มหนึ่งซึ่งสโมสรฯพิมพ์ออกจำหน่ายจ่ายแจกก่อนหน้านี้ได้แก่ “ข่าวแพทย์” เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2471 เป็นหนังสือที่สโมสรฯมีความมุ่งหมายที่จะเผยแพร่ความรู้ในทางโรคภัยไข้เจ็บให้แก่ประชาชน จำหน่ายในราคาเล่มละ 25 สตางค์ ตีพิมพ์ออกเดือนละเล่ม ถ้ารับเป็นรายปีก็คิดปีละ 3 บาท หนังสือนี้ออกอยู่ได้จนถึง พ.ศ. 2485 จึงได้หยุดลง เพราะภัยแห่งสงคราม
การจดทะเบียนของสโมสรแพทย์ฯตามหลักฐานของหนังสือสองเล่มไม่เหมือนกัน คือ อนุสรณ์กระทรวงสาธารณสุขว่า 15 มีนาคม 2470 แต่หนังสืออนุสรณ์ของแพทยสมาคมว่า จดทะเบียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2470 เป็นเวลาห่างกันสามเดือน อาจเป็นด้วยผู้เขียนหนังสือสองเล่มนั้น ต่างก็จำได้ว่าเป็นเดือนสุดท้ายของปี คนหนึ่งคิดถึงปีเก่าอันมีเดือนมีนาคมเป็นเดือนสุดท้ายของปี ส่วนอีกคนหนึ่งนึกถึงปลายปีที่เราใช้กันเดี๋ยวนี้ คือมีเดือนธันวาคมเป็นเดือนสุดท้ายของปี หนังสืออนุสรณ์ของแพทยสมาคมฯกล่าวในตอนหนึ่งว่า “ในการประชุมใหญ่ครั้งแรกในวันที่ 1 เมษายน 2471 ณ ห้องประชุมของ ร.พ.ศิริราชพยาบาล มีสมาชิกเข้าประชุม 45 คน เก็บเงินค่าบำรุงได้ 308 บาท สำหรับเป็นต้นทุนเริ่มต้น…” เมื่อพิจารณาความข้อนี้แล้วทำให้คิดว่า สโมสรแพทย์ฯคงจดทะเบียนเมื่อ 15 มีนาคม 2470 เพราะในตอนนั้นสมาชิกต่างก็อยากจะมีสโมสรกันเหลือเกิน เมื่อจดทะเบียนได้แล้ว คงไม่ปล่อยให้เวลาผ่านไปตั้งสามเดือนจึงเรียกประชุม เมื่อคิดอย่างนี้แล้ว จึงขอถือเอาวันที่ 15 มีนาคม 2470 เป็นวันจดทะเบียน

เมื่อสโมสรแพทย์ฯจดทะเบียนแล้วได้ใช้โรงพยาบาลศิริราชเป็นสำนักงานชั่วคราว ดำเนินกิจการในทางวิชาการ ส่วนตัวสโมสร ซึ่งเป็นที่พบปะกันของสมาชิกยังไม่มี ในระยะนั้น กรมสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทยได้ก่อสร้าง สุขศาลาบางรัก เพื่อใช้เป็นที่รักษากามโรค สุขศาลานี้สร้างเป็นตึกสองชั้น ติดถนนสีลม ในเนื้อที่ของโรงพยาบาล หมอเฮส์ ซึ่งได้เลิกกิจการไปแล้ว หลังตัวสุขศาลาเข้าไปเป็นเรือนไม้หลังใหญ่ ใต้ถุนสูง เดิมใช้เป็นโรงพยาบาลของหมอเฮส์ กรมสาธารณสุขได้อนุญาตให้สโมสรแพทย์มาใช้เป็นสโมสรได้ ทั้งได้อนุญาตให้สร้างสนามเทนนิสในที่ดินที่อยู่ถัดเข้าไป สโมสรแพทย์ฯได้ลงทุนซ่อมแซมตกแต่งสถานที่ที่ได้รับอนุญาตนี้จนเป็นที่เรียบร้อย มีทั้งกีฬาในร่มและนอกร่มและมีเครื่องดื่มในราคาเยาด้วย สโมสรแพทย์จึงได้มีสโมสรจริง ๆ เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2471 นอกจากแพทย์แล้ว ยังมีสมาชิกที่ไม่ใช่แพทย์ไปใช้สโมสรกันอย่างครึกครื้นอุ่นหนาฝาคั่งมาก ทั้งนี้น่าจะเนื่องจากว่าในขณะนั้นมีสโมสรไม่กี่แห่ง และที่สโมสรแพทย์นี้อยู่ใกล้กับสามแยกถนนสีลมต่อถนนเจริญกรุง การไปมาสะดวก มีทั้งรถรางและรถเมล์ มีข้าราชการจากหลายกระทรวงไปสมัครเป็นสมาชิก บางคนเป็นสมาชิกเพราะเพื่อแพทย์ชวนไป บางคนเป็นเพราะบ้านอยู่ใกล้ ๆ แถวนั้น สโมสรจึงรุ่งเรืองเฟื่องฟู

ผู้เขียนเข้ารับราชการในกระทรวงมหาดไทย กรมสาธารณสุข เมื่อต้นปี (เมษายน) พ.ศ. 2474 มีชื่อเป็นแพทย์อยู่ที่โรงพยาบาลวชิระ แต่ตัวทำงานอยู่กองที่ปรึกษา ซึ่งมีห้องทำงานอยู่ที่ชั้นสอง ทางด้านหน้าของตึกกระทรวงมหาดไทย และอยู่ใกล้ ๆ ห้องอธิบดีและห้องผู้ช่วยอธิบดี ท่านที่ปรึกษาในเวลานั้นคือ ดร.ชไปโร ซึ่งเป็นผู้ที่ มูลนิธิร็อคคีเฟลเลอร์ส่งมาช่วย ท่านที่ปรึกษาได้ให้ผู้เขียนไปดูงานและช่วยงานตามกองต่าง ๆ แล้วกลับมาเขียนรายงานให้ท่านทราบ เวลาท่านไปราชการหัวเมือง ท่านก็ให้ผู้เขียนติดตามไปด้วย แล้วท่านก็ให้ผู้เขียนไปดูตามที่ต่าง ๆ ตามที่ท่านต้องการ เมื่อกลับมาก็เขียนรายงานเสนอให้ท่านทราบ ครั้งสุดท้ายผู้เขียนไปอยู่กองโรคระบาด ขณะนั้นมีโรคบิดระบาดที่อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้เขียนก็ถูกส่งไปปราบโรคนั้น พอโรคเริ่มสงบก็ได้รับโทรเลขจากกรมให้กลับกรุงเทพฯ เมื่อมาถึง ท่านที่ปรึกษาก็สั่งให้ไปช่วยหลวงชาญวิธีเวชช์ (รุ่งขึ้นปี 2475 ท่านก็ได้เป็นพระชาญวิธีเวชช์) ที่สุขศาลาบางรัก

ได้กล่าวไว้แล้วว่า สุขศาลาบางรักนั้นใช้เป็นที่รักษากามโรค แต่ใช้เฉพาะชั้นล่าง เท่านั้น ชั้นบนจึงยังคงว่างอยู่ ท่านที่ปรึกษามีความเห็นว่าควรจะใช้ที่ว่างนี้เป็นที่ทำการ “สุขาภิบาลตัวอย่างบางรัก” กรมสาธารณสุขมีความเห็นพ้องด้วย จึงได้เปิดทำการขึ้น มีเจ้าหน้าที่คือ หลวงชาญวิธีเวชช์เป็นหัวหน้า มีสารวัตรสุขาภิบาล 6 คน นางสงเคราะห์ (พยาบาล) สองคน เสมียนหนึ่งคนและภารโรงหนึ่งคน คุณหลวงชาญฯท่านมีงานทางกรมด้วย ทางกรมจึงได้ให้ผู้เขียนมาเป็นผู้ช่วย ต่อมาคุณหลวงชาญฯท่านเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระ และได้เป็นเหรัญญิกของสโมสรแพทย์ด้วย ท่านก็เลยให้ผู้เขียนช่วยทำงานทางการเงินของสโมสรแพทย์ด้วย ผู้เขียนจึงเข้าไปรู้เห็นกิจการของสมาคมแพทย์มากขึ้นและได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกด้วย ต่อมาเมื่อท่านพ้นตำแหน่งเหรัญญิก ผู้เขียนก็ได้รับเลือกเป็นเหรัญญิกแทนท่าน จะเป็นตั้งแต่ปีไหนและเป็นอยู่นานเท่าใดจำไม่ได้ จำได้แต่ว่าไม่ค่อยจะเป็นที่พอใจของสมาชิกบางท่านนัก เพราะถูกทวงถามค่าบำรุงที่ติดค้างอยู่ค่อนข้างบ่อย การเงินของสโมสรแพทย์ดีขึ้น มีสมาชิกใช้สโมสรมากขึ้นและหนี้สูญน้อยลง

แพทยสมาคมฯได้บังเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2464 อีก 6 ปีต่อมา คือเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2470 สโมสรแพทย์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ได้บังเกิดตามขึ้นมา ทำให้สถาบันการแพทย์มีเป็นสอง ทางสมาคมนั้นมุ่งไปในเรื่องเกี่ยวกับวิชาการ ส่วนทางสโมสรนั้นเหมาหมด คือเอาทั้งวิชาการและการสังคม ซึ่งทำให้ได้เปรียบกว่าสมาคมด้วยเหตุนี้แพทย์ที่จบมาใหม่จึงหันเหมาสมัคร เข้าเป็นสมาชิกของสโมสรแพทย์ฯ มีจำนวนน้อยที่เข้าไปสมัครเป็นสมาชิกของแพทยสมาคมฯ ทำให้ทางสมาคมชักจะรู้สึกด้อยลงไป แต่เรื่องที่สำคัญและไม่เปิดเผยคือ ผู้ที่เป็นสมาชิกของแพทยสมาคมอยู่แต่เดิมนั้น พอมีสโมสรแพทย์เกิดขึ้น ก็มาสมัครเป็นสมาชิกสโมสรแพทย์ด้วย เพราะเห็นว่าตนสำเร็จมาจากศิริราช ผู้ที่เป็นสมาชิกทั้งสองฝ่ายนี้ต้องเสียค่าบำรุงเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าของผู้ที่อยู่ฝ่ายเดียว และในสมัยนั้นการเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในฐานะลำบาก จนรัฐบาลต้องทำ “ดุลยภาพ” ข้าราชการ คือมีการปลดข้าราชการออกจากงานเป็นประจำมาก ทางฝ่ายราษฎรก็ประสบกับการหากินฝืดเคือง ผู้ที่เป็นแพทย์ก็หนีภัยเศรษฐกิจถดถอยนี้ไม่พ้นเหมือนกัน จึงได้มีผู้คิดที่จะรวมสองสถาบันนี้เข้าด้วยกัน โดยกระพือข่าวที่ไม่ดีให้แก่ทั้งสองฝ่ายที่ยังแยกกันอยู่

อันที่จริงการรวมกันได้ก็เป็นของดี ทำให้มีความเป็นปึกแผ่นแน่นหนาและเป็นการประหยัดด้วย ดังนั้นในการประชุมใหญ่ประจำปีของแพทยสมาคมฯ และของสโมสรแพทย์ฯ จึงได้มีผู้เสนอความเห็นในเรื่องนี้ขึ้น แต่ยังไม่ได้มีการจัดการอย่างใดอย่างหนึ่งลงไป ต่อมาเพื่อ พ.ศ.2476 พระยาบริรักษ์เวชชการได้รับเลือกให้เป็นสภานายกแพทยสมาคมฯและในขณะเดียวกันก็เป็นนายกสโมสรแพทย์ฯด้วย การรวมสองสถาบันจึงได้เป็นรูปเป็นร่างขึ้น โดยจัดให้มีการออกเสียงลงมติในเรื่องหลักการ ในการรวมกิจการบางอย่างของสมาคมและสโมสรเข้าด้วยกัน ผลที่ได้รับมีดังนี้

•ใบออกเสียงส่งไปยังสมาชิกทั้งสิ้น 547 ฉบับ
•ใด้รับใบออกเสียงคืนมา 279 ฉบับ
•ผู้ที่เห็นชอบด้วย 267 ฉบับ
•ผู้ที่ไม่เห็นชอบด้วย 13 ฉบับ
•ผู้ที่ไม่แสดงความเห็น 1 ฉบับ

เป็นอันว่า ผู้ที่เห็นชอบกับการรวมชนะอย่างเด็ดขาด การนับคะแนนเสียงนี้ทำเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2476 หลักการของการรวมนี้มีความสำคัญอยู่ที่ว่า สมาชิกที่ชำระค่าบำรุงทางแพทยสมาคมฯ แล้วไม่ต้องชำระทางสโมสรแพทย์ฯอีก และผู้ที่ชำระค่าบำรุงทางสโมสรแพทย์ฯแล้ว ไม่ต้องชำระทางสมาคมฯอีก กิจการที่จัดให้รวมกันคือ การเงิน ห้องสมุด การออกหนังสือพิมพ์แพทย์ และการเลี้ยงประจำปี ส่วนสำนักงานและสถานที่ของสมาคมและสโมสรให้อยู่แห่งเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน ถ้าสามารถจัดทำได้
จดหมายเหตุทางแพทย์ของสมาคมแห่งกรุงสยาม เล่ม 16 ตอน 6 ประจำ มีนาคม 2476 ได้ลงรายนามของสมาชิกสโมสรแพทย์ฯ ที่มิได้เป็นสมาชิกของแพทยสมาคมฯ เข้าไว้ โดยถือเอาว่าเป็น “สมาชิกเข้าใหม่” ให้เลขประจำตัวตั้งแต่เลขที่ 474 ไปจนถึง 564 รวม 91 คน ในจำนวนนี้มีแพทย์หญิง 1 คน คือ ม.ร.ว.ส่งศรี เกษมศรี และมีแพทย์ที่จบจากต่างประเทศ 3 คน คือ

1.เลขที่ 517 ร.อ.อ. หลวงพรหมทัตเวที (ไหมพรหม ศรีสวัสดิ์) จากมหาวิทยาลัย บริสตอล อังกฤษ
2.เลขที่ 529 อ.ต. หลวงลิปิธรรมศรีพยัตต์ (ลิ ศรีพยัตต์) จากยูเนียนยูนิเวอร์สิตี อาลบานี สหรัฐอเมริกา
3.เลขที่ 544 น.ต.เล็ก สุมิตร จากลอนดอนและอังกฤษ

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2476 ซึ่งเป็นวันประชุมใหญ่ประจำปีแพทยสมาคมฯ และของสโมสรแพทย์ฯ จึงเป็นอันว่า แพทยสมาคมฯ และสโมสรแพทย์ฯได้รวมกิจการกันนับแต่วันนั้นเป็นต้นมาในนามใหม่ว่า “แพทยสมาคมแห่งกรุงสยามและสโมสรแพทย์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” แต่ในชั้นต้นนี้ ยังคงมีคณะกรรมการบริหารแยกกันไปพลางก่อน จนกว่าจะได้ย้ายมาอยู่รวมกัน
พ.ศ. 2479 สโมสรแพทย์ฯ ได้ย้ายจากบริเวณสุขศาลาบางรัก มาอยู่ที่เดียวกับแพทยสมาคมฯ ที่ถนนบำรุงเมือง ตั้งแต่นั้นมากรรมการบริหารที่มีอยู่ 2 ชุดก็รวมกันเป็นชุดเดียว สถานที่ที่ถนนบำรุงเมืองนี้ถือได้ว่าเป็นย่านกลางของกรุงเทพ ฯ การไปมาสะดวก มีทั้งรถรางและรถเมล์ และอยู่ใกล้กรมสาธารณสุขในส่วนที่อยู่ที่ยศเส ฉะนั้นจึงมีสมาชิกมาใช้สโสรกันมาก สโมสรมีโต๊ะบิลเลียด 2 โต๊ะ มีสนามเทนนิส 3 สนาม และตอนเย็น ๆ มี “เสียโป” ของเจ๊กขาวมาขายข้าวและเป็ดย่างทุกวัน เจ็กขาวนั้นแก่แล้ว ต้องมีลูกจ้างหาบมาให้ ฝีมือการทำเป็ดย่างของเจ็กขาวเป็นที่เลื่องลือกันมาก ผู้ที่มาเล่นเทนนิส หรือมาเล่นบิลเลียด หรือผู้ไม่เล่นแต่มาดูเขาหรือมาคุยก็มักถือโอกาสกินข้าวกับเป็ดย่าง และอยู่จนถึงค่ำ สมัยนั้นถือได้ว่าสโมสรรุ่งเรืองมาก จนกระทั่งข้าราชการที่ไม่ใช่แพทย์มาสมัครเป็นสมาชิกเพิ่มขึ้น เพราะสะดวกในการพบปะ ในการหย่อนใจ ในการไปมาและอื่น ๆ

พ.ศ. 2477 ในขณะที่สโมสรแพทย์ฯยังไม่ได้ย้ายมารวมกับแพทยสมาคมฯ ที่ถนนบำรุงเมือง และคุณหลวงเฉลิมคัมภีรเวชช์ดำรงตำแหน่งนายกของทั้งสองฝ่าย ได้มีการประชุมครั้งสำคัญขึ้นเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน และได้มีมติให้ตั้งกองการปราบวัณโรคของแพทยสมาคมขึ้น เพื่อทำการปราบวัณโรคในประเทศไทยร่วมมือกับองค์การอื่น ๆ และประชาชนทั่วไป กองการนี้ได้จดทะเบียนเป็นสมาคมที่สมบูรณ์ตามกฎหมาย เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2478 ต่อมาในวันที่ 27 เดือนเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับสมาคมกองการปราบวัณโรคไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมกองการปราบวัณโรคได้ขอความร่วมมือสภากาชาดสยามขอใช้สถานีอนามัยที่ 1 ถนนบำรุงเมืองเป็นสถานตรวจรักษาวัณโรค ซึ่งสภากาชาดสยามก็ได้ให้ความร่วมมือด้วยดี จึงได้เปิดทำการรักษาเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2478
ในการดำเนินงาน สมาคมกองการปราบวัณโรคได้รับความอุดหนุนในเรื่องเวชภัณฑ์ และเครื่องมือเครื่องใช้จากสภากาชาดสยามคิดเป็นเงินปีละประมาณ 3,000 บาท นอกจากนั้นสภากาชาดสยามยังได้ให้พยาบาลมาช่วยปฏิบัติงานในสถานตรวจรักษาวัณโรคด้วย ในส่วนการตรวจรักษาผู้ป่วยนั้น แพทย์ซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมได้ผลัดเปลี่ยนกันมาทำให้เป็นประจำ
งานได้ดำเนินไปโดยเรียบร้อย แต่สมาคมกองการปราบวัณโรคก็มิได้พอใจแต่เพียงเท่านั้น ยังอยากมีสถานที่เป็นของตนเอง ได้พยายามติดต่อกับนายโอวบุ้นโฮ้ว เศรษฐีใจบุญที่สิงคโปร์-ในที่สุดได้เงินมาสามหมื่นบาท ได้ใช้เงินจำนวนนี้สร้างสถานที่ของตนเองขึ้นในที่ดินราชพัสดุ ติดถนนพหลโยธิน ตำบลสามเสนใน เมื่อสร้างเสร็จแล้วได้ย้ายสำนักงานมาอยู่ที่แห่งใหม่นี้เมื่อ พ.ศ. 2482 และได้เปลี่ยนชื่อเป็น สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์

ต่อมาจะเป็นปีใดผู้เขียนจำไม่ได้ ทางกรมตำรวจต้องการสถานที่แห่งนี้เป็นกองบังคับการของตำรวจตระเวนชายแดน เพราะเห็นว่ามีเนื้อที่กว้างขวางกว่าที่กรมตำรวจมีอยู่ จึงได้ขอแลกโดยสร้างสถานที่ให้สมาคมปราบวัณโรคฯใหม่ ซึ่งอยู่ติดถนนพหลโยธินเหมือนกัน แต่อยู่เหนือขึ้นไปอีกเล็กน้อย สมาคมจึงได้ย้ายมาอยู่ที่ใหม่นี้และดำเนินการต่อมาจนถึงปัจจุบัน ทางแพทยสมาคมฯและสภากาชาดไทย เมื่อเห็นว่าสมาคมปราบวัณโรคมีสถานที่ของตนเองแล้ว และสามารถดำเนินการต่อไปด้วยตนเองได้ดี จึงได้ปล่อยมือให้สมาคมปราบวัณโรคดำเนินการไปตามลำพัง

ส่วนแพทยสมาคมฯและสโมสรแพทย์ฯ ก็ได้ดำเนินกิจการมาด้วยดี จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ลุกลามมาถึงประเทศไทยวันที่ 8 ธันวาคม 2484 ญี่ปุ่นได้บุกเข้ายึดสถานที่หลายแห่ง รัฐบาลไทยเห็นว่าถ้าขืนสู้ต่อไปเราก็คงพินาศ จึงได้ยอมทำสัญญากับญี่ปุ่นเพื่อรักษาประเทศและประชาชนไว้ ในสายตาโลกประเทศไทยจึงกลายเป็นฝ่ายอักษะไปด้วยเหตุนี้ ฝ่ายสัมพันธมิตรจึงส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดสถานที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพ ฯ ผู้คนในพระนครเป็นจำนวนมากได้พากันอพยพไปอยู่นอกเมือง พวกข้าราชการและนักธุรกิจมักไปหาที่อาศัยตามเขตอำเภอชั้นนอกหรือจังหวัดใกล้เคียง เช้าเดินทางเข้ามาทำงาน เย็นเลิกงานก็กลับออกไป แพทยสมาคมฯและสโมสรแพทย์ฯยังดำเนินงานต่อไป และได้ทำที่หลบภัยไว้ใกล้ ๆ ผู้เขียนจำได้ว่า บ่ายวันเสาร์วันหนึ่ง (ขณะนั้นทำงานวันเสาร์เช้าครึ่งวัน) ผู้เขียนมาที่สโมสร เห็นมีสมาชิกมาเล่นบิลเลียดและเล่นเทนนิสหลายคน ไม่นานนักก็มีเครื่องบินมาทิ้งลูกระเบิด (มีเสียงหวอเตือนภัยก่อน) สมาชิกต่างก็หยุดเล่น แล้วไปยืนออกันที่ปากหลุมหลบภัย คอยดูว่าเครื่องบินมาทางไหน ทิ้งลูกระเบิดตรงไหน ถ้าเห็นว่ายังห่างไกลจากสโมสร ก็ยืนดูอยู่ ถ้าใกล้เข้ามาก็ลงหลุมหลบภัย วันนั้นการทิ้งระเบิดอยู่ทางโรงไฟฟ้าวัดเลียบ เห็นลูกระเบิดหล่นลงมาชัดเจน ลงมาคราวละหลายลูกคล้ายเป็นพวง เป็นเรื่องที่น่ากลัว แต่ทุกคนก็อยากดู เพราะเกิดมาไม่เคยเห็น การทิ้งระเบิดเช่นนี้มีอยู่บ่อย ๆ ทั้งกลางวันและกลางคืน จุดที่เครื่องบินชอบมาทิ้งระเบิดคือ โรงไฟฟ้าวัดเลียบ โรงไฟฟ้าสามเสน โรงไฟฟ้ารถไฟมักกะสัน ย่านสถานีรถไฟบางกอกน้อย ฯลฯ เท่าที่จำได้ ตึกพยาธิวิทยา และสุขศาลาบางแห่งพังทะลาย

นอกจากภัยของสงครามแล้ว ในปี 2485 ยังมีน้ำท่วมอีกด้วย น้ำท่วมครั้งนี้เป็นน้ำท่วมที่ใหญ่ที่สุดที่เคยมีมา และท่วมอยู่นานประมาณหนึ่งเดือน ถนนส่วนมากกลายเป็นคลองไป บางแห่งน้ำลึกมากจนรถยนต์แล่นไปไม่ได้ ถนนบางแห่งที่น้ำท่วมไม่มากนัก เช่นที่ถนนราชดำเนินใน หน้ากระทรวงยุติธรรม ตอนนั้นเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก มีรถยนต์ลุยไปได้ และในขณะเดียวกันเรือพายและเรือจ้างก็มาลอยลำสวนกันไปมา แต่ไม่ปรากฏว่ารถยนต์และเรือชนกัน ทั้งนี้ก็เพราะรถยนต์ลุยน้ำแล่นได้ช้ามาก ในตอนนั้นผู้เขียนอาศัยอยู่ที่บางกระบือหน้ากรมชลประทาน ได้ซื้อเรือเล็กลำหนึ่งพายมาทำงานที่กรมวิทยาศาสตร์ ซึ่งอยู่หลังกระทรวงพาณิชย์เดี๋ยวนี้ ที่นั่นเป็นที่สูง น้ำไม่ท่วม จึงได้เอารถยนต์จอดไว้ที่กรมใช้เรือพายไปมา บางวันต้องไปดูแลงานทางโรงงานเภสัชกรรม ก็พายเรือไปและพายเรือกลับ ในเวลานั้นไม่รู้สึกว่ามีความยากลำบากอย่างไร ดูเหมือนจะสนุนกสนานไปกับการพายเรือ ใคร ๆ ก็ใช้เรือกันทั้งนั้น น้ำมันเบ็นซินหายาก เพราะมีการปันส่วนกัน พอน้ำแห้งแล้ว รถยนต์ก็ออกวิ่งกัน แต่มีไม่มาก เหตุด้วยน้ำมันหายากดังกล่าวแล้ว ผู้เขียนเคยใช้แอลกอฮอล์แทนเบ็นซิน รถไม่มีกำลังเหมือนเบ็นซิน ใช้ไปได้ไม่นานเกจ์เครื่องวัดน้ำมันก็เสีย เข้าใจว่าเป็นเพราะเป็นสนิมที่เครื่องวัดตอนที่อยู่ในถัง น้ำมันแอลกอฮอลที่ใช้นั้นซื้อจากสำนักงานกลางของโรงงานน้ำตาล แอลกอฮอลอาจมีน้ำปนอยู่มากเกินส่วน (ขอเตือนท่านที่จะใช้แอลกอฮอลเติมรถยนต์ต่อไปในภายหน้า)

น้ำท่วมคราวนั้นเสียหายมาก ถ้าเป็นเรือนสองชั้น ชั้นล่างน้ำจะท่วม อาศัยได้แต่ชั้นบนเท่านั้น ทางรถไฟที่เราเห็นกันว่าเขายกไว้สูงมาก มีหลายตอนที่เราพายเรือ (หรือเรือจ้าง) ข้ามไปได้ พอพ้นทางรถไฟข้ามทางถนนสุขุมวิท น้ำท่วมแลดูเป็นทะเลไปเลย รถโดยสารในระหว่างขาดแคลนน้ำมัน แก้ปัญหาด้วยการใช้ถ่านเป็นพลังงาน ก็ใช้กันได้ แต่รถไม่ค่อยมีแรง อีกอย่างหนึ่งถ้ามีการรั่วของแก๊สที่ออกมาจากเตาถ่าน ก็เคยมีผู้โดยสารตายกันหลายคน บางคนเอายางพารามากลั่น ได้น้ำมันเอาไปใช้แทนเบ็นซิน ว่ากันว่า ใช้ไปได้ไม่นานลูกสูบก็ติด เพราะมียางเหนียวมาเกาะ ทำให้เคลื่อนไหวไม่ได้


ในระหว่างสงคราม หลังน้ำท่วมแล้วมีผู้มาใช้สโมสรน้อยลง ทั้งนี้อธิบายไว้ว่าเป็นเพราะการไปมาไม่สะดวก แต่พอสงครามเลิกแล้ว มีน้ำมันเข้ามาขายได้ สโมสรก็คึกคักขึ้นอีก แต่ที่ของเราจำกัด ก็มีเสียงบ่นกันในระหว่าง พ.ศ. 2483-2485 ผู้เขียนเป็นเหรัญญิกของแพทยสมาคมฯ และท่านพลเรือตรี สงวน รุจิราภา เป็นนายก ท่านปรารภถึงการที่จะหาสถานที่ใหม่ให้กว้างใหญ่และโอ่โถงกว่าเดิม ท่านนายกเป็นผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองคนหนึ่ง จึงมีเสียงพอที่จะพูดกับใคร ๆ ได้ แม้กระนั้นก็ยังกินเวลาหลายปี จนกระทั่งล่วงมาถึงสมัย นายแพทย์เฉลิม พรมมาสเป็นนายก การจึงได้สำเร็จ โดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้ยอมให้เช่า “บ้านศาลาแดง” ซึ่งเดิมเป็นที่อยู่ของท่านเจ้าพระยายมราช บ้านศาลาแดงอยู่ตรงกันข้ามกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ตรงสี่แยกถนนพระรามสี่ตัดกับรอยต่อของถนนราชดำริและถนนสีลม หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า อยู่ตรงที่โรงแรมดุสิตธานีตั้งอยู่เดี๋ยวนี้

การที่ต้องเจรจากันนานหลายปีกว่าจะเช่าได้ ก็เพราะ ประการแรก มีบ้านข้าราชการผู้ใหญ่อยู่ในที่นั้น ประการที่สองมีสมาคมนักเรียนเก่าภาคพื้นยุโรป อยู่ข้างหน้าตอนออกถนนสีลม และประการที่สามเราต่อรองเพื่อให้ได้เสียค่าเช่าถูก นอกจากนั้นเมื่อสมาชิกทราบว่าจะย้ายไปอยู่ศาลาแดง ก็แสดงความไม่พอใจ บ่นว่ามันไกลเกินไป นี่ก็เป็นความจริง เมื่อเราอยู่ที่ไหนจนชินเสียแล้ว ที่อื่นซึ่งเราไม่ค่อยได้ไป เราไม่ชินก็เป็นที่ห่างไกลสำหรับเรา แต่พอเราไปบ่อย ๆ เข้าจนชิน เราจึงรู้สึกว่ามันไม่ไกลเลย

เมื่อเช่าได้แล้ว เราต้องทำการซ่อมแซมเป็นการใหญ่ เพราะบ้านศาลาแดงทรุดโทรมมาก ต้องเสียเงินมากมายหลายหมื่นในการซ่อม ในการซ่อมแซมนี้ ทันตแพทยสมาคมและเภสัชกรรมสมาคม ได้มีส่วนช่วยด้วย ฉะนั้นเมื่อซ่อมเสร็จแล้ว ทั้งสามสมาคมจึงมาอยู่ร่วมกัน แพทยสมาคมฯ ได้ย้ายมาอยู่บ้านศาลาแดงเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2491 ในสมัยนายแพทย์เฉลิม พรมมาส เป็นนายก
ต่อมาใน พ.ศ. 2492 สมาคมนางพยาบาลได้ขอเข้ามาอยู่ร่วมด้วย จึงเป็นอันว่าบ้านศาลาแดงนี้ เป็นสถานที่ของ 4 สมาคม คือ แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกรรม และพยาบาล และใช้อักษรย่อว่า พ.ท.ภ.พบ.


บ้านศาลาแดงมีตึกใหญ่ และมีอาณาบริเวณมากกว่า 8 ไร่ สมาคมได้จัดให้บ้านไม้หลังหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้กับตึกใหญ่ให้เป็นส่วนของสโมสร (ซึ่งได้ลดตำแหน่งลงมาเป็นส่วนหนึ่งของแพทยสมาคมฯ มีโต๊ะบิลเลียด 2 โต๊ะ และมีโต๊ะสำหรับเล่นไพ่บริดจ์อีกหลายโต๊ะ ถัดออกไปหน่อยทางข้างหลังเป็นสนามเทนนิส มีอยู่ 3 สนาม (คอร์ต) นอกจากนั้นยังมีที่ว่างเป็นสนามหญ้าอยู่ข้างหน้า และมีเรือนพักอยู่ข้าง ๆ สรุปแล้วสถานที่ใหม่นี้ดีกว่าเก่ามาก แรก ๆ ก็มีสมาชิกไปใช้สโมสรน้อย แต่อยู่ไป ๆ ก็มากขึ้นทุกที แม้ผู้ที่บ่นว่าไกลก็ยังไป

หลังจากที่สี่สมาคมได้อยู่ร่วมกันมาเป็นเวลานาน พอต้น พ.ศ.2509 สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ก็มีหนังสือแจ้งมาบอกเลิกสัญญาเช่า อ้างว่าจะปรับปรุงที่ดินบริเวณศาลาแดงให้เป็นศูนย์การค้าที่ทันสมัยและจะให้เงินแก่แพทยสมาคมฯ 2.5 ล้านบาทเป็นค่าชดเชย จากการต่อรองขอความเห็นอกเห็นใจ ในที่สุดก็ได้รับเงินมา 5 ล้านบาท และได้แบ่งให้อีกสามสมาคมไปครึ่งหนึ่ง เงินที่เหลือ 2.5 ล้านบาทได้นำไปซื้อที่ดินของบริษัทเคหพัฒนาที่ซอยศูนย์วิจัย ห่างจากถนนเพชรบุรีตัดใหม่ประมาณ 300 เมตร ได้เนื้อที่ 3 ไร่ 2 งาน 92 ตารางวา กับได้ที่ดินถนนทางเข้าสมาคมอีกประมาณ 45 ตารางวา แล้วได้ลงมือก่อสร้างอาคารในเดือนพฤษภาคม 2510 โดยบริษัทชลิตและสหายรับเหมาก่อสร้าง เป็นเงินประมาณ 1.3 ล้านบาท ต่อมาภายหลังได้ติดตั้งเครื่องปรับอากาศที่ห้องประชุมชั้นบนของอาคาร และต่อเติมอย่างอื่น ๆ อีกหลายอย่าง ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ได้จากการบอกบุญแก่สมาชิกและท่านผู้มีจิตศรัทธาทั้งหลาย

บัดนี้ แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้มีสถานที่ของตนเองอย่างถาวรแล้ว นับว่าเป็นผลบุญของชาวแพทย์ทั้งหลายที่ได้ช่วยกันสั่งสมไว้ในอดีต เรื่องนี้ควรเป็นเครื่องเตือนใจให้แพทย์ในปัจจุบันและอนาคตได้สำนึก จดจำและปฏิบัติแต่ในสิ่งที่ดีงามจงเสมอไป และขอให้สามัคคีช่วยเหลือซึ่งกันและกันเพื่อยังความเจริญ ให้เกิดแก่มนุษยชาติและประเทศชาติสืบไป
ก่อนที่จะย้ายมาอยู่บ้านถาวร ท่านนายกและกรรมการผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย ได้ช่วยกันทำงานอย่างเสียสละจนบรรลุถึงผลสำเร็จในขั้นสุดท้าย เริ่มด้วยการเจรจากับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ การจัดสรรปันส่วนค่าชดใช้ในระหว่างสี่สมาคม การย้ายสำนักงานจากบ้านศาลาแดงไปอาศัยสถานที่ของสมาคมปราบวัณโรค ฯ ในระหว่างที่มีการซื้อที่ดินและการก่อสร้าง ตลอดจนการย้ายเข้าสู่สถานที่ถาวรที่ซอยศูนย์วิจัย ในวันเสาร์ที่ 13 มกราคม 2511

นับว่าเป็นศิริมงคลเป็นอย่างยิ่ง และเป็นที่ปลาบปลื้มยินดีแก่แพทย์ทั้งปวง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินีนาถได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จมาทรงเปิดอาคารของแพทยสมาคมฯ ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2511 นั้น เป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างสูงแก่แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์

แพทยสมาคมฯ ได้ดำเนินกิจการมาด้วยดีนับแต่เริ่มต้นเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2464 คุณประโยชน์ที่แพทยสมาคมฯได้ทำไว้แก่ประเทศชาติ แก่ประชาชน และแก่บรรดาแพทย์ด้วยกันมีอยู่เป็นเอนกประการ เป็นต้นว่า เริ่มตั้งสมาคมปราบวัณโรค สมาคมโรคเบาหวาน ทุนวิจัย ทุนการศึกษาแก่แพทย์เผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนในด้านสุขภาพอนามัย ฯลฯ ในรอบหลายปี (ต้นฉบับคือในรอบ 60 ปี) อันเป็นเวลาอันยาวนานนี้ แม้แพทยสมาคมจะได้ทำคุณงามความดีไว้เป็นอันมากก็ดี ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นก็ย่อมมีเป็นธรรมดา ข้อสำคัญมีอยู่ว่าเมื่อทำอะไรผิดลงไปแล้ว ควรรีบแก้ไขและป้องกันมิให้ความผิดเช่นนั้นเกิดขึ้นอีก
ผู้เขียนขอจบเพียงเท่านี้ และขอวิงวอนท่านสมาชิกทั้งหลาย ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ช่วยกันแก้ไขสิ่งที่ผิดมาแล้ว ให้ถูก ให้ดีขึ้นจะเป็นที่เชื่อถือ เป็นที่พึ่งพึงของสมาชิกและเป็นที่รักและสามัคคีกันในระหว่างสมาชิก

 

โดย ศาสตราจารย์นายแพทย์กำธร สุวรรณกิจ
อดีตคณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, อธิบดีกรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุข

 

 

Visitors: 1,439,089